วันอังคารที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2560

การวางแผน

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการวางแผน
1. ความหมายของการวางแผน
หน่วยงานทุกระดับทั้งภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องมีปัจจัยที่มีความสำคัญที่จะทำให้การดำเนินงานของหน่วยงานประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย สามารถดำเนินงานได้สอดคล้องกับกระบวนการทำงาน รวมทั้งทราบรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับกระบวนการ ระยะเวลาของการทำงานนั้นๆ หากเกิดข้อผิดพลาดจะสามารถทราบได้ทันทีว่าเกิดจากสาเหตุอะไรและสามารถทำการแก้ไขได้ทันท่วงทีที่เกิดการผิดพลาดในกระบวนการทำงาน ไม่ก่อให้เกิดการเสียเวลา รวมทั้งสามารถตรวจสอบการทำงาน และกำหนดแนวทางการทำงานในอนาคตได้เพื่อความสำเร็จของหน่วยงาน ปัจจัย    ดังกล่าว เรียกว่า “การวางแผน (Planning)” มาจากคำในภาษาละตินว่า “Planum” ซึ่งได้มีผู้ให้ความหมายของ     การวางแผนไว้
อุทัย บุญประเสริฐ (2538 : 19) ได้ให้ความหมายว่า การวางแผนเป็นกิจกรรมที่คาดหวังว่าจะต้องปฏิบัติ ซึ่งเป็นผลจากการค้นหาและกำหนดวิธีทำงานในอนาคตเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมาย บรรลุวัตถุประสงค์ และเป้าหมาย         ที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์ต่อหน่วยงานและหน่วยงานมากที่สุด แสดงให้เห็นว่าจะมีการทำอะไร ทำที่ไหน เมื่อใด ให้ใครทำ ทำอย่างไร และให้รายละเอียดอื่นๆ ที่จำเป็นช่วยให้การปฏิบัติงานลุล่วงไปอย่างมีประสิทธิภาพ
วิโรจน์ สารรัตนะ (2539 : 35-36) ได้ให้ความหมายว่า การวางแผนเป็นกระบวนการตัดสินใจเพื่อกำหนดวัตถุประสงค์และแนวทางการกระทำไว้ล่วงหน้า เพื่อให้บุคคลในองค์การปฏิบัติตามให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
อนันต์ เกตุวงศ์ (2541 : 3-4) ได้ให้ความหมายว่า การวางแผนก็คือการตัดสินใจล่วงหน้าในการเลือกทางเลือกเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุประสงค์หรือวิธีการกระทำ โดยทั่วไปจะเป็นการตอบคำถามต่อไปนี้ คือ จะทำอะไร (What) ทำไมจึงต้องทำ (Why) ใครบ้าง ที่จะเป็นผู้กระทำ (Who) จะกระทำเมื่อใด (When) จะกระทำกันที่ไหนบ้าง (Where) และจะกระทำกันอย่างไร (How)
Simmons (อ้างถึงใน ธงชัย สันติวงษ์. 2540 : 138) ได้ให้ความหมายว่า การวางแผนหมายถึง
(1) ความหมายในแง่ของงานที่ต้องปฏิบัติของผู้บริหารแต่ละคน คือ การกำหนดวัตถุประสงค์ การจูงใจและ   สื่อความ การวัดผล และการพัฒนาบุคคล 
(2) ความหมายที่มีขอบเขตกว้างกว่าที่คลุมถึงการบริหารทั้งหมด คือ กระบวนการบริหารที่ต่อเนื่อง ครอบคลุมถึงทุกกิจกรรม ของงานและมุ่งสู่อนาคต
Wohlstetter (อ้างถึงใน อนันต์ เกตุวงศ์. 2541 : 2) ให้คำอธิบายความหมายของการวางแผนไว้แตกต่าง    ออกไปจากท่านอื่นๆ โดยให้ความหมายถึงวิธีการที่จำเป็นของการทำให้การตัดสินใจก้าวหน้า และเป็นสิ่งที่จะต้องมีอยู่ก่อนการกระทำ การวางแผนจะต้องหาคำตอบ 2 ประการนี้ให้ได้ คือ
1) ความมุ่งหมายขององค์การหรือแผนงานคืออะไร
2) อะไรคือวิธีการที่ดีที่สุดจะทำให้บรรลุผลสำเร็จของความมุ่งหมายนั้น ยิ่งกว่านั้นยังเน้นอีกต่อไปว่า          การวางแผนเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ต้องมีการปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ และสามารถทำนาย การเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้
จากความหมายของการวางแผน สรุปได้ว่า การวางแผน (Planning) หมายถึง กระบวนการในการกำหนดทิศทาง เป้าหมาย วัตถุประสงค์ที่ต้องการให้เกิดขึ้นในอนาคตขององค์การหรือหน่วยงานโดยเลือกวิธีทำงานที่ดีที่สุด มีประสิทธิภาพมากที่สุด ให้บรรลุผลตามที่ต้องการภายในเวลาที่กำหนด และการวางแผนนั้นจะพิจารณาในประเด็น      ที่สำคัญ 3 ประการ คือ
1) จุดหมายปลายทาง (คืออะไร)
2) วิธีการดำเนินงาน (ทำอย่างไร)  
3) ระยะเวลา (เสร็จสิ้นเมื่อไร)
2. ความสำคัญของการวางแผน
การวางแผนเป็นงานหลักและสำคัญในการบริหารของหน่วยงานในทุกระดับ เนื่องจากเป็นตัวกำหนดทิศทาง เป้าหมาย วิธีดำเนินการ ที่จะทำให้หน่วยงานดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการภายในเวลาที่กำหนด การดำเนินงานจะประสบผลสำเร็จมากหรือน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับการวางแผน หากวางแผนดีก็เท่ากับดำเนินงานสำเร็จไปแล้วกว่าครึ่ง ดังนั้น การวางแผนจึงมีความสำคัญต่อการดำเนินงาน ดังนี้
2.1 การวางแผนเป็นหน้าที่อันดับแรกของผู้บริหาร
2.2 การวางแผนเป็นแนวทางปฏิบัติที่สำคัญ ผู้ปฏิบัติตามแผนสามารถศึกษาเรียนรู้วิธีการ ขั้นตอน และกระบวนการทำงานได้จากแผนก่อนที่จะลงมือปฏิบัติ
2.3 แผนและการวางแผนเป็นตัวกำหนดทิศทางและความรู้สึกในเรื่องของความมุ่งหมายสำหรับองค์การให้     ผู้ปฏิบัติงานทุกคนได้รู้ แผนเป็นกรอบสำหรับการตัดสินใจให้ผู้ปฏิบัติได้ อย่างดี จึงสามารถป้องกันมิให้มีการตัดสินใจเพื่อแก้ปัญหาแต่ละครั้งไปเท่านั้นด้วย
2.4 แผนและการวางแผนจะช่วยให้ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน มองไปในอนาคต และเห็นโอกาสที่จะแสวงหาประโยชน์หรือกระทำการต่างๆ ให้สำเร็จตามความมุ่งหมายได้ ทั้งยังมองเห็นปัญหาอุปสรรคและภัยคุกคามต่างๆ เพื่อจะหาทางป้องกัน ตลอดจนลดภาวะความเสี่ยงต่างๆ ได้ด้วย
2.5 การตัดสินใจที่มีเหตุผลในการวางแผนนั้น จะมีการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ไว้ล่วงหน้า ซึ่งมีเวลาพอที่จะใช้ทั้งหลักทฤษฎี แนวความคิด และหลักการ ประกอบกับตัวเลขสถิติและข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาตัดสินใจ จึงทำให้การตัดสินใจเป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม มีเหตุผลและเป็นประโยชน์ตามต้องการ
2.6 การวางแผนในเรื่องของการเตรียมการไว้ล่วงหน้า เมื่อมีการกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายตามความต้องการ กิจกรรมต่างๆ ที่จะต้องกระทำให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และ บังเกิดผลตามเป้าหมายนั้นๆ จะต้องได้รับการพิจารณา การตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ทั้งวิธีการกระบวนการ ขั้นตอนของการกระทำ ทรัพยากรที่ต้องใช้ เวลา สถานที่และการควบคุมดูแลการทำงาน
2.7 การวางแผนมีส่วนช่วยให้มนุษย์เปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆได้มาก
2.8 การวางแผนเป็นตัวนำในการพัฒนา
3. ประโยชน์ของการวางแผน
การวางแผนมีประโยชน์สำคัญหลายประการทั้งต่อผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติ รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
3.1 ป้องกันมิให้เกิดปัญหาและความผิดพลาด หรือลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในการปฏิบัติงานในอนาคต
3.2 ทำให้หน่วยงานมีกรอบหรือทิศทางในการปฏิบัติงานที่ชัดเจนว่าจะทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร และใครทำ ทำให้นักบริหารมีความมั่นใจในการปฏิบัติงานให้บรรลุผลสำเร็จได้ง่าย
3.3 ช่วยให้เกิดการประหยัดทรัพยากรทางการบริหาร เช่น คน เงิน วัสดุอุปกรณ์ เวลา ฯลฯ
3.4 ช่วยให้การปฏิบัติงานรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ เพราะมีแผนเป็นแนวทาง “เปรียบเสมือนเรือที่มีหางเสือ”
3.5 ช่วยให้การปฏิบัติงานเป็นระบบ นักบริหารสามารถควบคุม ติดตามการปฏิบัติงานได้ง่าย
4. ประเภทของแผน
การจำแนกประเภทของแผน ขึ้นอยู่กับบรรทัดฐานที่นำมาใช้ในการจำแนกและจัดแบ่งประเภท เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้งานและง่ายต่อการทำความเข้าใจ การวางแผนอาจจำแนกเป็นประเภทต่างๆ โดยอาศัยหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกันไป การจำแนกประเภทของแผนที่สำคัญๆ มีดังนี้
4.1 จำแนกตามระดับหน่วยงาน
             เป็นแผนซึ่งระบุถึงระดับหน่วยงานที่กำหนดแผนและกำหนดวิธีการในการปฏิบัติตามแผน แผนประเภทนี้ได้แก่ แผนระดับชาติ แผนระดับกระทรวง แผนระดับกรม แผนระดับจังหวัด แผนระดับเขตพื้นที่การศึกษา แผนระดับโรงเรียน เป็นต้น
4.2 จำแนกตามวัตถุประสงค์ หรือ เป้าหมาย
             เป็นแผนซึ่งจัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายโดยเฉพาะ เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการศึกษาแห่งชาติ แผนพัฒนาชนบท แผนพัฒนาแหล่งอุตสาหกรรมภาคตะวันออก เป็นต้น
4.3 จำแนกตามระยะเวลา
แผนประเภทนี้ อาจแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้
4.3.1 แผนระยะสั้น (Short-Range Plan) คือ แผนที่ใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี เช่น แผนปฏิบัติการประจำปี (Action Plan or Operation Plan) ในแผนจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการดำเนินการ สถานที่ งบประมาณ และผู้รับผิดชอบ การวางแผนระยะสั้นอาจทำในรูปของแผนงาน (Program) หรือ โครงการ (Project) ซึ่งมีกิจกรรมไม่สลับซับซ้อน
4.3.2 แผนระยะปานกลาง (Intermediate-Range Plan) คือ แผนที่ใช้ระยะเวลาในการดำเนินการตั้งแต่ 3-4 ปี แต่ไม่เกิน 5 ปี เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ.2550-2554) แผนปฏิบัติราชการ 4 ปี เป็นต้น
4.3.3 แผนระยะยาว (Long-Range Plan) คือ แผนที่ใช้ระยะเวลาในการดำเนินการมากกว่า 5 ปี ขึ้นไป ในแผนจะกำหนดขอบเขตแนวทางไว้กว้างๆ เช่น แผนการศึกษาแห่งชาติ 15 ปี เป็นต้น

อนึ่ง อาจไม่มีระยะเวลาที่แน่นอนเป็นมาตรฐานสากลสำหรับกำหนดประเภทของแผนดังกล่าวข้างต้น แต่ระยะเวลาที่ดีที่ถูกต้องในการจำแนกประเภทของแผนดูเหมือนจะขึ้นอยู่กับ “หลักความผูกพัน” (Commitment  Principle) ซึ่งได้กล่าวโดยสรุปว่า “ระยะเวลาในการกำหนดแผน           การปฏิบัติงาน ควรให้เหมาะสมและสอดคล้องกับลักษณะของงานที่ต้องกระทำและเป็นระยะ เวลาขที่เพียงพอกับความผูกพันอันเกี่ยวข้องกับผลของการตัดสินใจในการกระทำตามแผนนั้น”
นอกจากนั้นแผนทั้ง 3 ประเภท จะต้องประสานสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน การกำหนดแผนระยะสั้นหรือระยะปานกลางโดยไม่คำนึงถึงแผนระยะยาว ย่อมมีผลเสียหายมากกว่าที่จะได้ผลดี หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าแผนระยะสั้น หรือระยะปานกลาง อาจเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีแผนระยะยาว  และในทำนองเดียวกันแผนระยะยาวอาจไม่ประสบกับผลสำเร็จ หากไม่มีแผนระยะสั้นหรือระยะปานกลางขช่วยสนับสนุน               
4.4 จำแนกตามลักษณะการใช้
             โดยปกติองค์การหรือหน่วยงานต่างๆ จะมีแผนที่ใช้อยู่ 2 ประเภท คือ
4.4.1 แผนที่มีวัตถุประสงค์เดียว (Single-Purpose planning) เป็นแผนที่ใช้สำหรับเป็นแนวทางในการปฏิบัติเฉพาะงานหรือเฉพาะความรับผิดชอบหรือเป็นไปตามสภาวการณ์ ครั้นเมื่องานสำเร็จลุล่วงไปแล้วหรือสภาวการณ์เปลี่ยนแปลงไป แผนนั้นก็จะถูกยกเลิกไม่ใช้อีกต่อไป หรืออาจเรียกว่า “แผนชั่วคราว” เช่น แผนลดค่าเงินบาท แผนป้องกันน้ำท่วม โครงการแพทย์อาสาสมัครเคลื่อนที่และอื่นๆ เป็นต้น
4.4.2 แผนที่ใช้อย่างต่อเนื่อง (Continuous-Use Planning) เป็นแผนที่ใช้สำหรับเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องและเป็นประจำด้วยระยะเวลาที่ยาวนาน  แม้จะมีผลกระทบต่างๆ เกิดขึ้นในขณะดำเนินงาน   แผนชนิดนี้จะไม่เปลี่ยนโครงสร้างแต่จะปรับปรุงรายละเอียดให้สามารถดำเนินการต่อไปได้  หรืออาจเรียกได้ว่า “แผนถาวร” หรือ “แผนงานหลัก”ได้แก่นโยบายต่างๆ เช่น นโยบายการพัฒนาชนบท  นโยบายการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์  นโยบายการลดอัตราการเกิด เป็นต้น
4.5 จำแนกตามระดับการบริหารงานหน่วยงาน
แผนประเภทนี้ อาจแบ่งได้เป็น 3 ระดับ ดังนี้
4.5.1 แผนกลยุทธ์ (Strategic Planning) เป็นแผนที่ถูกจัดทำขึ้นโดยผู้บริหารระดับสูง เพื่อให้สอดคล้องกับเป็นหมายกลยุทธ์ของหน่วยงานแล้วประสานไปยังผู้บริหารระดับกลาง และระดับล่าง ทำให้การวางแผนกลยุทธ์มีลักษณะการบริหารแบบลงล่าง (Top-Dow Planning) ที่ผู้บริหารระดับสูงมีบทบาทสำคัญที่สุด การวางแผนกลยุทธ์จะกล่าวถึงขอบเขตกว้างๆ ของการจัดกิจกรรมของหน่วยงาน ซึ่งต้องครอบคลุมทรัพยากรทั้งหมดที่หน่วยงานมีอยู่ตลอดจนการพยากรณ์สภาวะแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก เป้าหมายของการวางแผนกลยุทธ์ โดยทั่วไปจะมุ่งเน้นให้หน่วยงานเจริญเติบโตและดำรงอยู่ได้ในอนาคต กับการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินงานของหน่วยงาน
4.5.2 แผนยุทธวิธี (Tactical Planning) เป็นแผนที่เกิดจากการกระทำร่วมกันระหว่างผู้บริหารระดับสูงกับผู้บริหารระดับกลางเพื่อให้หน่วยงานธุรกิจก้าวไปสู่ผลสำเร็จที่วางไว้ ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายยุทธวิธีและสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ แผนยุทธวิธี จะมีลักษณะเฉพาะเจาะจงและเป็นกิจกรรมที่ต้องกระทำโดยหน่วยงานย่อยซึ่งอยู่ภายในหน่วยงาน การวางแผนยุทธวิธีต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตกำหนดของแผนกลยุทธ์ แต่แผนยุทธวิธีจะทำหน้าที่ในการผสมผสานสอดคล้องระหว่างแผน  กลยุทธ์ ซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยผู้บริหารระดับสูง กับแผนปฏิบัติการ ซึ่งเป็นแผนระดับล่างและมักเป็นแผนระยะสั้นเข้าด้วยกันโดยเน้นให้ครอบคลุมในสิ่งที่มีความสำคัญทั้งหมด เช่น ค่าใช้จ่าย รายได้ เวลา และเครื่องมือเครื่องใช้
4.5.3 แผนปฏิบัติการ (Operational Plans) ใช้อธิบายเป้าหมายในการปฏิบัติงานของหน่วยงานในลักษณะที่เป็นหน้าที่เฉพาะของหน่วยงาน หรือมีลักษณะที่เป็นงานที่ต้องทำเป็นประจำวันต่อวัน การวางแผนปฏิบัติการเป็นหน้าที่ของผู้บริหารระดับล่างที่จะต้องกระทำตามเป้าหมายปฏิบัติการ และให้สอดคล้องกับแผนยุทธวิธี และแผนกลยุทธ์ แผนปฏิบัติการจึงมีลักษณะการวางแผนระยะสั้น ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับปัจจัยต่างๆ ภายในหน่วยงาน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ผู้บริหารสามารถควบคุมได้
4.6 การจำแนกแผนตามหน้าที่ดำเนินงาน
การวางแผนโดยจำแนกตามหน้าที่ดำเนินงาน สามารถจำแนกแผนออกได้เป็น 5 ชนิด ได้แก่
4.6.1 แผนแม่บท (Master Plan) เป็นแผนที่เกิดจากการรวมแผนทั้งหมดภายในหน่วยงานเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้เห็นถึงโครงสร้างโดยรวมของการปฏิบัติงานภายในหน่วยงาน และใช้เป็นแม่แบบในการวางแผนระดับรองลงไปของกิจการ
4.6.2 แผนหน้าที่ (Functional Plan) เป็นแผนที่ถูกวางขึ้นเพื่อเฉพาะเจาะจงใช้กับกลุ่มงาน แผนปฏิบัติงานจะเป็นแผนย่อยที่อยู่ในแผนใหญ่ที่เรียกว่าแผนแม่บท แผนปฏิบัติงานจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติทราบว่า หน่วยงานจะต้องทำอะไร ทำอย่างไร และทำเพื่ออะไร ตลอดจนแสดงเป้าหมายสุดท้ายที่คาดหวัง เมื่อปฏิบัติตามแผนทุกอย่างหมดแล้ว การจำแนกการวางแผนตามหน้าที่นี้ สามารถจำแนกแผนย่อยออกได้เป็นแผนด้านบุคลากร แผนด้านการผลิต แผนด้านการตลาด และแผนด้านการเงิน
4.6.3 แผนงานโครงการ (Project) เป็นแผนที่หน่วยงานทำขึ้นเพื่อตอบสนองนโยบาย เกี่ยวกับกิจกรรมใหญ่ของหน่วยงานเฉพาะครั้ง (เป็นกิจกรรมที่นานๆ ทำที มิใช่ทำเป็นประจำสม่ำเสมอ) ซึ่งต้องใช้ปัจจัยเป็นจำนวนมาก จากหน่วยงานต่างๆ หลายๆ หน่วยงาน การวางแผนงานโครงการจะช่วยให้หน่วยงานย่อยแต่ละหน่วยงานรู้หน้าที่ และความรับผิดชอบของตนมีการประสานสัมพันธ์อันดี ซึ่งจะทำให้งานบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4.6.4 แผนสรุป (Comprehensive Plan) เป็นแผนที่จัดทำขึ้นเพื่อสรุปรวมแผนหน้าที่ตลอดจนแผนงานโครงงานที่หน่วยงานกระทำ โดยอาจจำแนกเป็นหมวดหมู่ หรือจำแนกตามขอบเขตของงานหรือระดับความซับซ้อนในการปฏิบัติ เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ การวางแผนประเภทนี้ จะเห็นได้ชัดในการวางแผนบริหารประเทศของรัฐบาล ตัวอย่างเช่น แผนสาธารณสุข แผนการจัดการศึกษา เป็นต้น
4.6.5 แผนกิจกรรม (Activity Planning) เป็นแผนที่จัดทำขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นตารางเวลาของการปฏิบัติงาน (Schedule) แผนกิจกรรมจะแสดงให้เห็นว่า แต่ละหน่วยงานย่อยในหน่วยงานมีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินกิจกรรมอะไร ในช่วงเวลาใดบ้าง กิจกรรมนั้นจะเริ่มต้นเมื่อไร และจะต้องดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องกับหน่วยงานใดบ้างหรือไม่ เพื่อให้งานนั้นแล้วเสร็จ บรรลุผลสำเร็จ ตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
4.7 จำแนกตามความถี่ของการนำแผนไปใช้
การจำแนกประเภทของแผนวิธีนี้ จะแบ่งแผนออกได้ เป็น 2 ประเภท ดังนี้
4.7.1 แผนหลัก (Standing Plan) (หรืออาจเรียกได้ว่าแผนยืนพื้น แผนถาวร หรือแผนประจำ) เป็นแนวคิด หลักการ หรือแนวทางปฏิบัติในการกระทำกิจกรรมบางอย่างภายในหน่วยงาน ซึ่งต้องมีการกระทำซ้ำบ่อยๆ แผนหลักหรือแผนประจำนี้ จะถูกนำมาใช้ได้หลายๆครั้งโดยไม่มีการกำหนดอายุ (ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงสภาวการณ์ทั้งภายในและภายนอกเป็นเกณฑ์) แผนหลักหรือแผนประจำจึงต้องเป็นเครื่องมือสำหรับผู้บริหารในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาระหว่างฝ่ายต่างๆ
4.7.2 แผนใช้เฉพาะครั้ง (Single-Use Plan) หมายถึง แผนที่เตรียมขึ้นอย่างเฉพาะเจาะจงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวแล้วจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นอีก (one time Goal) เมื่อบรรลุผลตามที่กำหนดแล้วจะเลิกใช้แผนนั้นๆ แต่ถ้าสถานการณ์เอื้ออำนวยจะนำกลับมาใช้ใหม่อีกก็ได้
จากการจำแนกประเภทของแผน หากพิจารณาแผนที่หน่วยงานทางการศึกษาในระดับเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนต้องดำเนินการแล้ว แผนที่มีความสำคัญและจำเป็นต้องดำเนินการไม่ว่าจะคำนึงถึงบริบทของหน่วยงาน วัตถุประสงค์และเป้าหมาย ระยะเวลา คือแผนกลยุทธ์ที่ต้องมุ่งพัฒนาหน่วยงานไปสู่อนาคตที่สอดคล้องกับนโยบายหน่วยเหนือและตามความต้องการของหน่วยงาน รวมถึงบริบทที่เปลี่ยนไปโดยใช้ศักยภาพภายในและสภาพแวดล้อมภายนอก ช่วยหนุนเสริมผลักดันให้หน่วยงานบรรลุวัตถุประสงค์และภารกิจที่กำหนดไว้
5. ความเชื่อมโยงของแผนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
การวางแผนพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานใช้แผนปฏิบัติราชการ 4 ปี ซึ่งมีนโยบายและระยะเวลาสอดคล้องกับแผนบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล แผนปฏิบัติราชการกระทรวงศึกษาธิการ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนการศึกษาแห่งชาติ  เป็นกรอบทิศทางในการจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปี  โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียนใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนของหน่วยงานเช่นเดียวกัน จากนั้นก็จะก้าวไปสู่กระบวนการบริหาร ในส่วนที่เป็นการบริหารแผนและโครงการ โดยหน่วยงานที่เป็นผู้รับผิดชอบแผนงานและโครงการที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบนำไปดำเนินการให้บรรลุตามที่ได้กำหนดไว้ หน่วยงานจัดให้มีระบบการติดตาม  รายงานการปฏิบัติงานตามแผนปฏิบัติการและความก้าวหน้าในการปฏิบัติตามแผนพัฒนาในแต่ละรอบปีกับการประเมินผลการดำเนินงานควบคู่กันไป และรายงานผลการปฏิบัติงานในแต่ละรอบปีเมื่อดำเนินงานไปได้ระยะครึ่งแผนก็จะมีการประเมินผลระยะครึ่งแผนพัฒนาและรายงานการประเมินเมื่อเสร็จสิ้นแผนพัฒนาที่เป็นระบบครบวงจร ซึ่งแสดงให้เห็นได้ดัง แผนภูมิต่อไปนี้
แผนภูมิ  แสดงความเชื่อมโยงของแผนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียนและ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
6. ความเชื่อมโยงนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน
การจัดทำแผนกลยุทธ์ของหน่วยงาน มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษานโยบายและยุทธศาสตร์ หรือจุดเน้นต่างๆจากผู้ที่เกี่ยวข้องหรือหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อเป็นกรอบกำหนดทิศทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และหากได้มีการศึกษานโยบาย ที่เกี่ยวข้องในหลายระดับและกว้างขวางจะทำให้เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของนโยบายได้ชัดเจนขึ้น นโยบายและยุทธศาสตร์ที่ควรศึกษาวิเคราะห์ประกอบการจัดทำแผน เช่น
6.1 ระดับสากล
นโยบายและยุทธศาสตร์ที่ประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยซึ่งเข้าร่วมประชุมและตกลงกำหนดแนวทางการพัฒนาร่วมกัน  เช่น
เป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษ (Millennium Development Goals - MDGs) คือเป้าหมายแปดประการ ที่รัฐสมาชิกสหประชาชาติ 189 แห่ง ตกลงยอมรับกันที่จะพยายามบรรลุให้ได้ภายใน พ.ศ. 2558 ดังนี้
1. การขจัดความยากจนและความหิวโหย
2. การพัฒนาการศึกษาขั้นประถม
3. การส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศ
4. การลดอัตราการตายของเด็ก
5. การพัฒนาสุขภาพของแม่
6. การป้องกันโรคเอดส์ มาลาเรีย และโรคติดต่ออื่นๆ
7. การรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
8. การส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาในโลก
การศึกษาเพื่อปวงชน (Education for All) ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับโลก      เรื่องการศึกษาเพื่อปวงชน เมื่อปี พ.ศ. 2533 ที่จอมเทียน จังหวัดชลบุรี ร่วมกับองค์การยูเนสโก และหน่วยงาน        สหประชาชาติอื่นๆ ซึ่งที่ประชุมครั้งนั้นได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาการศึกษาเพื่อปวงชนในปฏิญญาจอมเทียน ไว้     6 ประการ คือ
1. ขยายการดูแลเด็กปฐมวัยและกิจกรรมเพื่อการพัฒนาอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กด้อยโอกาสและ    เด็กพิการ
2. ขยายโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ทั่วถึง ภายในปี พ.ศ. 2543
3. ปรับปรุงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เพื่อให้ผู้เรียนผ่านมาตรฐานขั้นต่ำที่สูงขึ้น
4. ลดอัตราการไม่รู้หนังสือของผู้ใหญ่ในปี พ.ศ. 2543 ให้ได้ครึ่งหนึ่งของอัตราในปี  พ.ศ. 2533 โดยเน้นการเรียนรู้ของเด็กหญิงและสตรี
5. ขยายการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานและการฝึกอบรมทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของเยาวชนและผู้ใหญ่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านสุขอนามัย และการงานอาชีพที่ดีขึ้น
6. เพิ่มพูนความรู้ทักษะ และค่านิยมที่จำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคล และครอบครัว ในรูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย
ต่อมาในปี พ.ศ. 2543 องค์การยูเนสโก ร่วมกับหน่วยงานสหประชาชาติอื่นๆ ที่ดำเนินการเรื่องการศึกษาเพื่อปวงชน ได้จัดการประชุมเพื่อประเมินความก้าวหน้าในการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในการประชุมที่จอมเทียน ที่กรุงดาการประเทศเซเนกัล ซึ่งผลปรากฏว่าประเทศสมาชิกยังไม่สามารถดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายตามที่ได้กำหนดไว้ในปฏิญญาจอมเทียนได้ดังนั้น ที่ประชุมจึงได้กำหนดเป้าหมายที่จะบรรลุการศึกษาเพื่อปวงชนภายในปี พ.ศ. 2558 ไว้ในกรอบปฏิญญาดาการ ดังนี้
1. ขยายและปรับปรุงการศึกษาและการดูแลเด็กเล็กก่อนวัยเรียน โดยเฉพาะเด็กที่เปราะบางและด้อยโอกาส
2. จัดให้เด็กทั้งหมด โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง เด็กที่อยู่ในสภาวะยากลำบากและเด็กที่เป็นกลุ่มน้อยทางเชื้อชาติ สามารถเข้าถึงและเข้าเรียนในระดับประถมศึกษาภาคบังคับที่มีคุณภาพ ภายในปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558)
3. จัดการศึกษาที่ตอบสนองความต้องการการเรียนรู้ของเยาวชนและผู้ใหญ่ทั้งหมดผ่านโครงการทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน
4. พัฒนาอัตราการรู้หนังสือของผู้ใหญ่ให้ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 ภายในปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) โดยเฉพาะสตรีและการพัฒนาการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานและต่อเนื่องสำหรับผู้ใหญ่ทั้งหมดให้เท่าเทียมกัน
5. ขจัดความเหลื่อมล้ำทางเพศในการศึกษาระดับประถมและมัธยมภายในปี   ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548) และทำให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศในการศึกษา ภายในปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) โดยเน้นการเข้าถึงของเด็กผู้หญิงและทำให้เกิดการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพ
6. พัฒนาคุณภาพการศึกษาในทุกด้านและรับรองความเป็นเลิศทั้งหมดเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ทางการเรียนรู้ที่ชัดเจนและสามารถวัดได้ โดยเฉพาะในเรื่องการรู้หนังสือ การคำนวณตัวเลขและทักษะที่จำเป็นต่อชีวิต
บทบาทของการศึกษาสู่ประชาคมอาเซียน ในส่วนของความร่วมมือด้านการศึกษาของประชาคมอาเซียนนั้น ได้มีการลงนามในปฏิญญาชะอำ-หัวหิน  โดยนายกรัฐมนตรีของไทยและผู้นำของประเทศต่างๆ ในอาเซียนประกอบด้วยความร่วมมือใน 3 เสาหลัก คือ ประชาคม ด้านการเมืองและความมั่นคง โดยใช้การศึกษาเป็นตัวนำ ประชาคมด้านเศรษฐกิจ ทุกประเทศจะต้องพัฒนาความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก และประชาคมด้านสังคมและวัฒนธรรม     ให้ถือว่าความงดงามมาจากความแตกต่างและหลากหลายวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน             แต่ในความหลากหลายทางวัฒนธรรมนั้นจะช่วยสร้างความร่วมมือในลักษณะสังคมเอื้ออาทร โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ ทั้ง 3        เสาหลักส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกัน เพื่อให้สามารถก้าวไปสู่ความสำเร็จของการเป็นประชาคมอาเซียนได้ภายใน     ปี 2558
จากการระดมความคิดในหลากหลายเวทีจากผู้เกี่ยวข้องทั้ง 3 เสาหลัก รวมถึงผู้บริหารการศึกษา ครูผู้สอน นักวิชาการ และผู้เกี่ยวข้อง พบข้อเสนอแนวทางมากมาย เช่น การให้ความรู้แก่พลเมือง ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาเพื่อนบ้าน การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน และจิตสำนึกของพลเมืองอาเซียน ทุกภาคส่วนในสังคมร่วมจัดกิจกรรมด้านการศึกษา สร้างเด็กให้มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานแลสถานประกอบการ การจัดหลักสูตรการศึกษาอาเซียน ด้วยการส่งเสริมการใช้ภาษาอังกฤษและภาษาเพื่อนบ้าน เป็นต้น
สำหรับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ต้องเร่งพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยให้รู้จักวัฒนธรรม สังคม ความเป็นอยู่ของเพื่อนอีก 9 ประเทศ ที่จะสามารถก้าวสู่ประชาคมอาเซียนอย่างมั่นใจ โดยการดำเนินโครงการพัฒนาประชาคมสู่อาเซียน (Spirit of ASEAN) เพื่อรองรับการรวมกลุ่มของประเทศอาเซียน ในปี 2558 เช่น โรงเรียน Buffer School เป็นโรงเรียนที่อยู่ติดชายแดนกับประเทศไทย 4 ประเทศ ได้แก่ ลาว พม่า กัมพูชา และมาเลเซีย โรงเรียน Sister School เป็นโรงเรียนที่มีความพร้อม มีความเข้มแข็งทั้งในเรื่องของภาษาและ ICT ที่อยู่ในพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่ติดชายแดน กับประเทศไทย 5 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และบรูไน เป็นต้น
6.2 ระดับประเทศ
             ทิศทางการพัฒนาประเทศ กฎหมาย และนโยบายที่ได้กำหนดไว้ซึ่งเป็นกรอบทิศทางการจัดการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
แผนการศึกษาแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2552 – 2559
พระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ. 2545
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559)
นโยบายรัฐบาล
แผนบริหารราชการแผ่นดิน
นโยบายและยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ. 2552- 2561)
พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546
           6.3 ระดับกระทรวง
ทิศทางการพัฒนาการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ  ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ  กฎหมาย และแนวนโยบายที่เกี่ยวข้อง เช่น
แผนปฏิบัติราชการ ระยะ 4 ปี ของ กระทรวงศึกษาธิการ
แผนปฏิบัติการประจำปี ของกระทรวงศึกษาธิการ
นโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
6.4 ระดับกรม
ทิศทาง นโยบายการพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งโดยทั่วไปจะมีความสอดคล้องกับกับทิศทาง นโยบายการพัฒนาการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการและกรอบภารกิจใน        ความรับผิดชอบ เช่น
แผนปฏิบัติราชการ ระยะ 4 ปี ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
แผนปฏิบัติการประจำปี ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
นโยบาย จุดเน้น ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
6.5 ระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด
แผนพัฒนาจังหวัด
แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด
การศึกษาจังหวัด
แผนปฏิบัติราชการประจำปี ของจังหวัด
ขอขอบคุณ   :  https://sites.google.com/site/pmtech32152009/1-sa-ma-rthxth-bay-naew-kh-dke-ywk-bka-rbr-har-khorngkar-khwam-s-akh-y-khwam-pe-nma-khwam-hmay-khwam-taek-t-ang-rahw-a-ngka-rbr-har-khorngkar-k-bkar-br-har-th-w-pi-laea-pra-yo-chn-khxng-kar-br-har-khorngkar-rwm-th-ng-khwam-s-mph-nth-khxng-khorngkar-wngcr-khorngkar-laea-kar-wangphaen-khorngkar

สืบค้นเมื่อวันที่   :  27 ธันวาคม พ.ศ.2560

วันอังคารที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2560

การพัฒนางาน

หลักการพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพ
งานเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ทุกคนทำงานก็เพื่อปรารถนาเพื่อจะให้งาน ของตนเองก้าวหน้า มีประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อองค์การ ต่อสังคม และครอบครัวโดยส่วนรวม งานในที่นี้ย่อมหมายถึงงานในรูปของสินค้าหรือบริการ ซึ่งอาจจะมีหลากหลายชนิดด้วยกัน เช่น งานอุตสาหกรรม   ในครอบครัว ที่ผลิตออกมาในรูปของสินค้า OTOP งานในองค์การหรือบริษัท ทั้งนี้งานแต่ละประเภทที่จำเป็น    ต้องมีปัจจัยต่างๆ เช่น กลยุทธ์และเทคนิคในการทำงาน การสร้างแรงจูงใจในการทำงานและการมีทีมงานและการทำงานเป็นทีมเป็นองค์ประกอบพื้นฐานในการพัฒนางาน ให้มีประสิทธิภาพ โดยใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุดและผลผลิตหรือบริการนั้นต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ทุกประการ




กลยุทธ์และเทคนิคในการทำงาน
การพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพนั้น กลยุทธ์และเทคนิครวมทั้งวิธีการทางเทคโนโลยี ถือได้ว่า        เป็นส่วนสำคัญยิ่ง ที่จะช่วยผลักดันองค์การ บุคลากร และงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้โดยใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากร ระยะเวลา แรงงาน และวัสดุต่างๆ ที่นำมาใช้ในการทำงานจนเกิดสัมฤทธิผล
ความหมายของกลยุทธ์และเทคนิคกลยุทธ์และเทคนิคนั้นมีนักวิชาการหลายท่านได้อธิบายความหมายไว้ ซึ่งพอจะยกเป็นต้วอย่างได้ดังนี้
กลยุทธ์ คือ การกำหนดวิสัยทัศน์ การกำหนดเป้าหมายระยะยาวที่แน่ชัด มีการวิเคราะห์อนาคตและคิดเชิงการแข่งขัน ระบบการทำงานที่มีความสามารถในการปรับตัวสูงสำหรับการทำงานในสิ่งแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น มีระบบการทำงานที่คล่องตัว มีการทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงนำไปสู่เป้าหมายในอนาคต สามารถเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพื่อความอยู่รอด และความก้าวหน้า ขององค์การของหน่วยงานหรือของธุรกิจเอกชนในอนาคต

เทคนิค คือ ศิลปะหรือกลวิธีเฉพาะวิชานั้นๆ
การทำงานหากขาดพลังหรือแรงจูงใจในการทำงานแล้ว อาจมีผลทำให้การทำงานขาดชีวิตชีวา     และน่าเบื่อ ดังนั้น เราจะทำอย่างไรที่จะให้ชีวิตการทำงานในแต่ละวันของเรามีความสดชื่นและตื่นตัวอยู่เสมอ ก่อนอื่นเราควรทราบถึงสาเหตุหรือที่มาของแรงจูงใจเป็นลำดับแรก เพื่อที่จะได้หาวิธีการในการสร้างแรงจูงใจให้เกิดขึ้นต่อไป เช่น อาจจะเนื่องมาจากความต้องการหรือแรงขับ หรือสิ่งเร้าใจหรือภาวะการตื่นตัวในบุคคล หรืออาจจะเนื่องมาจากการคาดหวัง หรือบางครั้งบางคราวก็อาจเป็นแรงจูงใจไร้สำนึก คือ เกิดจากการเก็บกด ซึ่งบางทีเจ้าตัวก็ไม่รู้ตัว จะเห็นได้ว่าการจูงใจให้เกิดพฤติกรรมในคนเรานั้นไม่มีกฎเกณฑ์แน่นอน เพราะพฤติกรรมของมนุษย์มีความซับซ้อน แรงจูงใจอย่างเดียวกันอาจทำให้เกิดพฤติกรรมต่างกัน แรงจูงใจต่างกันอาจทำให้เกิดพฤติกรรมเหมือนกัน พฤติกรรมอย่างหนึ่งอาจเกิดจากแรงจูงใจหลายอย่าง และในบุคคลต่างสังคมก็มักมีแรงจูงใจ

การสร้างแรงจูงใจในการทำงาน
ปัจจัยสำคัญที่ใช้ในการบริหารงาน ให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุด ที่ทำให้บุคลากรหรือพนักงาน มีกำลัง เต็มใจและตั้งใจในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพนั้นคือ การจูงใจ ทั้งนี้ถ้าบุคคล บุคลากร หรือพนักงาน ได้รับการจูงใจแล้วจะส่งผลให้เต็มใจที่จะมุ่งมั่น สละเวลา กำลังที่จะผลักดันหรือผลผลิตออกมาดีและมีประสิทธิภาพมากที่สุด


ความต้องการ (need)

          ความต้องการ (need) เป็นสภาพที่บุคคลขาดสมดุล เกิดแรงผลักดันให้บุคคลแสดงพฤติกรรมเพื่อสร้างสมดุลให้ตัวเอง เช่น คนที่รู้สึกเหนื่อยล้าจะแสดงพฤติกรรมด้วยการนอน หรือนั่งพัก หรือเปลี่ยนบรรยากาศเปลี่ยนอิริยาบถ ดูหนังฟังเพลง ฯลฯ คนที่ถูกทิ้งให้อยู่คนเดียว จะมีความต้องการความรัก        ความสนใจจากผู้อื่น เป็นแรงผลักดันให้คน ๆ นั้น กระทำการบางอย่างเพื่อให้ได้รับความรักความสนใจ เช่น    ส่งเสียงดังร้องไห้ ฯลฯ ความต้องการมีอิทธิพลมากต่อพฤติกรรม กล่าวได้ว่าสิ่งที่กระตุ้นให้บุคคลแสดงพฤติกรรมเพื่อบรรลุจุดหมายปลายทางที่ต้องการนั้น ส่วนใหญ่เกิดเนื่องมาจากความต้องการของบุคคล     ความต้องการในคนเรามีหลายประเภท นักจิตวิทยาได้อธิบายเรื่องความต้องการพื้นฐานของมนุษย์และได้จำแนกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
 1. ความต้องการทางกาย (physical needs) เป็นความต้องการที่เกิดจากธรรมชาติ ของร่างกาย เช่น ต้องการกินอาหาร หายใจ ขับถ่ายของเสีย การเคลื่อนไหว พักผ่อน และต้องการทางเพศ ความต้องการทางกายทำให้เกิดแรงจูงใจให้บุคคลกระทำการเพื่อสนองความต้องการดังกล่าว เรียกว่าแรงจูงใจที่เกิดจากนี้ว่าแรงจูงใจทางชีวภาพ หรือทางสรีระ (biological motives)

 2. ความต้องการทางสังคมหรือความต้องการทางจิตใจ (social or psychological needs)     เป็นความต้องการที่เกิดจากการเรียนรู้ทางสังคม เช่น ต้องการความรัก ความมั่นคง ความปลอดภัย การเป็นที่ยอมรับ       ในสังคม ต้องการอิสรภาพ ความสำเร็จในชีวิต และตำแหน่งทางสังคม ความต้องการทางสังคมหรือทางจิตใจ ดังกล่าวนี้ เป็นเหตุให้มนุษย์แสดงพฤติกรรมเพื่อไปสู่จุดหมายปลายทางได้ เพื่อให้ได้มาซึ่งความต้องการดังกล่าวคือ ทำให้เกิดแรงจูงใจที่เรียกว่า แรงจูงใจทางสังคม (social motives)

สิ่งล่อใจ (incentives)

 สิ่งล่อใจ (incentives) เป็นสิ่งชักนำบุคคลให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ไปสู่จุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้จัดเป็นแรงจูงใจภายนอก เช่น      การชักจูงให้คนงานมาทำงานอย่างสม่ำเสมอ  โดยยกย่องพนักงานที่ไม่ขาดงานให้เป็นที่ปรากฏ การประกาศเกียรติคุณ หรือการจัดสรรรางวัล  ในการคัดเลือกพนักงานหรือบุคคลดีเด่นประจำปี การจัดทำเนียบ "Top Ten" หรือสิบสาขาดีเด่นขององค์การ การมอบโล่รางวัลแก่ฝ่ายงานที่มีผลงานยอดเยี่ยมในรอบปี ฯลฯ ตัวอย่างที่ยกมา    จัดเป็นการใช้สิ่งล่อใจมาสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้เกิดแก่พนักงานขององค์การทั้งสิ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าสิ่งล่อใจนั้น อาจเป็นวัตถุ เป็นสัญลักษณ์ หรือเป็นคำพูดที่ทำให้บุคคลพึงพอใจ
การตื่นตัว (arousal)
          การตื่นตัว (arousal) เป็นภาวะที่บุคคลพร้อมที่จะแสดงพฤติกรรม สมองพร้อมที่จะคิด กล้ามเนื้อพร้อมที่จะเคลื่อนไหว นักกีฬาที่อุ่นเครื่องเสร็จพร้อมที่จะแข่งขันหรือเล่นกีฬา พนักงานต้อนรับที่พร้อมให้บริการแก่ลูกค้า ฯลฯ ลักษณะดังกล่าวนี้เปรียบเหมือนเครื่องยนต์ที่ติดเครื่องพร้อมจะทำงาน บุคลากรในองค์การถ้ามีการตื่นตัวในการทำงาน ย่อมส่งผลให้ทำงานได้ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาธรรมชาติ พฤติกรรมของมนุษย์พบว่า การตื่นตัวมี 3 ระดับ คือ การตื่นตัวระดับสูง การตื่นตัวระดับกลาง และการตื่นตัวระดับต่ำ ระดับที่นักจิตวิทยาค้นพบว่าดีที่สุด ได้แก่ การตื่นตัวระดับกลาง ถ้าเป็นการตื่นตัวระดับสูง จะตื่นตัวมากไปจนกลายเป็นตื่นตกใจ หรือตื่นเต้น ขาดสมาธิในการทำงาน ถ้าตื่นตัวระดับต่ำ ก็มักทำงานเฉื่อยชา ผลงานเสร็จช้า และจากการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่ทำให้บุคคลตื่นตัว มีทั้งสิ่งเร้าภายนอกและสิ่งเร้าภายในตัว ได้แก่ ลักษณะส่วนตัวของบุคคลแต่ละคนที่มีต่าง ๆ กัน ทั้งในส่วนที่เป็นบุคลิกภาพ ลักษณะนิสัยและระบบสรีระภายในของผู้นั้น
การคาดหวัง (expectancy)
การคาดหวัง (expectancy) เป็นการตั้งความปรารถนาหรือการพยากรณ์ล่วงหน้าของบุคคลในสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปตัวอย่างเช่น การที่คนงานคาดหวังว่าพวกเขาจะได้รับโบนัสประจำปีสัก 4-5 เท่าของเงินเดือนการคาดหวังดังกล่าวนี้ ส่งผลให้พนักงานดังกล่าวกระปรี้กระเปร่า มีชีวิตชีวา ซึ่งบางคนอาจจะสมหวังและมีอีกหลายคนที่ผิดหวัง ในชีวิตจริงของคนเราโดยทั่วไป สิ่งที่คาดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้นมักไม่ตรงกันเสมอไป ช่วงห่างระหว่างสิ่งที่คาดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ถ้าห่างกันมากก็อาจทำให้คนงานคับข้องใจ และเกิดปัญหาขัดแย้งอื่น ๆ ตามมา เจ้าของกิจการหรือผู้บริหารงานจึงควรระมัดระวังในเรื่องดังกล่าว ที่จะต้องมีการสื่อสารสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในกันและกัน การสร้างความหวังหรือการปล่อยให้พนักงานคาดหวังลม ๆ แล้ง ๆ โดยที่สภาพความเป็นจริงทำไม่ได้ อาจจะก่อให้เกิดปัญหายุ่งยากที่คาดไม่ถึงในเวลาต่อไป ดังตัวอย่างที่เห็นได้จากการที่กลุ่มคนงานของบริษัทใหญ่บางแห่งรวมตัวกันต่อต้านผู้บริหารและเผาโรงงาน เนื่องมาจากไม่พอใจที่ไม่ได้โบนัสประจำปีตามที่คาดหวังไว้ว่าควรจะได้ทีมงานและการทำงานเป็นทีมคนต้องการมีสังคม และอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มคนจึงต้องสังกัดอยู่กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในด้านการทำงานถ้าสามาถทำงานเป็นกลุ่มได้ ทำให้องค์การมีประสิทธิภาพอันนำไปสู่การเพิ่มผลผลิตในการทำงาน ความสำเร็จขอององค์การ ย่อมต้องประกอบด้วยทีมงานต่างๆหลายประเภท และหลายลักษณะซึ่งเป็นทีมงานที่มีประสิทธิภาพ อันนำไปสู่ความสำเร็จและการบรรลุผลตามเป้าหมายขององค์การ
ความหมายของทีมงาน
ทีมงาน (Team Work) หมายถึง กลุ่มคนที่มีความสัมพันธ์กันค่อนข้างจะใกล้ชิดและคงความสัมพันธ์อยู่ค่อนข้างจะถาวรซึ่งประกอบด้วยหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงานโดยร่วมกันทำงานให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของทีมงาน

ความหมายของการทำงานเป็นทีม
การทำงานเป็นทีม เป็นความร่วมมือร่วมใจของบุคคล เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายร่วมกัน โดยต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ (3P) ได้แก่
1.  มีวัตถุประสงค์ (Purpose) ต้องชัดเจน
2.  มีการจัดลำดับความสำคัญ (Priority) ในการทำงาน
3.  มีผลการทำงาน (Performance)
ความสำคัญของการสร้างทีมงาน
ในแง่ของการทำงานเป็นทีม คือการที่บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปมาทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ แล้วก็การปฏิบัติงานต่างก็ได้รับความพอใจในผลงานนั้น ๆ ประโยชน์มีมากมาย ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่นการแข่งขันกีฬาไม่ว่าจะเป็นฟุตบอล วอลเลย์บอล หรือตะกร้อที่จะต้องทำงานประสานกันเป็นทีม ถ้าไม่มี    การวางแผนหรือมีการที่จะทำให้การประสานการเป็นทีม ชัยชนะก็จะไม่เกิดยกตัวอย่างอย่างเล่นฟุตบอลง่าย ๆ ฉะนั้นประโยชน์ของการทำงานเป็นทีมสมาชิกในทีมจะต้องได้มีการพัฒนาเต็มความสามารถของตน ได้รับเปลี่ยนความรู้ ทักษะ ประสบการณ์กับเพื่อนร่วมทีมทำให้เกิดการเรียนรู้การรับฟังความคิดเห็นและการสื่อสารกัน
ประโยชน์ของการทำงานเป็นทีม
ช่วยให้การทำงานเป็นระบบที่ดี มีการแบ่งงานตามหน้าที่และความรับผิดชอบทำให้งานบรรลุเป้าหมายตาม    ที่กลุ่มและทีมงานรับผิดชอบ ช่วยให้มีการนำหลักมนุษย์สัมพันธ์มาใช้ในกลุ่มและทีมงาน เช่น การรู้เรา รู้เขา เอาใจเขา  มาใส่ใจเรา งานของกลุ่มและทีมงานจะดำเนินไปด้วยดี ช่วยให้เกิดรู้รักสามัคคีระหว่างสมาชิกของกลุ่มและทีมงาน      ในการทำงานให้ประสานสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ช่วยสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงานกลุ่ม และทีมงาน ตามมาตรฐาน    การทำงาน โดยอาศัยกลุ่มหรือสภาพแรงงานเป็นตัวแทนให้แก่พนักงาน
ช่วยให้เกิดความมั่นคงในอาชีพเนื่องจากการทำงานเป็นกลุ่มหรือทีมงาน จะก่อให้เกิดความเป็นปึกแผ่นของมวลสมาชิกในกลุ่มหรือทีมงาน อันจะก่อให้เกิดความเกรงใจของคณะผู้บริหารที่มีต่อกลุ่มหรือทีมงาน ช่วยให้เกิดความรู้สึกการยอมรับนับถือของสมาชิกในทีมงานที่เรียกว่า คารวธรรม มีการเคารพนับถือเป็นพี่เป็นน้องก่อให้เกิดการถ้อยทีถ้อยอาศัย 
ขอขอบคุณ       :  https://kanyanee.wikispaces.com/หลักการพัฒนางานให้มี
     ประสิทธิภาพ

สืบค้นเมื่อวันที่   :  20 ธันวาคม พ.ศ.2560