ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการวางแผน
1.
ความหมายของการวางแผน
หน่วยงานทุกระดับทั้งภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องมีปัจจัยที่มีความสำคัญที่จะทำให้การดำเนินงานของหน่วยงานประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย
สามารถดำเนินงานได้สอดคล้องกับกระบวนการทำงาน รวมทั้งทราบรายละเอียดต่างๆ
เกี่ยวกับกระบวนการ ระยะเวลาของการทำงานนั้นๆ หากเกิดข้อผิดพลาดจะสามารถทราบได้ทันทีว่าเกิดจากสาเหตุอะไรและสามารถทำการแก้ไขได้ทันท่วงทีที่เกิดการผิดพลาดในกระบวนการทำงาน
ไม่ก่อให้เกิดการเสียเวลา รวมทั้งสามารถตรวจสอบการทำงาน
และกำหนดแนวทางการทำงานในอนาคตได้เพื่อความสำเร็จของหน่วยงาน ปัจจัย ดังกล่าว
เรียกว่า “การวางแผน (Planning)”
มาจากคำในภาษาละตินว่า “Planum” ซึ่งได้มีผู้ให้ความหมายของ การวางแผนไว้
อุทัย
บุญประเสริฐ (2538 : 19) ได้ให้ความหมายว่า
การวางแผนเป็นกิจกรรมที่คาดหวังว่าจะต้องปฏิบัติ
ซึ่งเป็นผลจากการค้นหาและกำหนดวิธีทำงานในอนาคตเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมาย บรรลุวัตถุประสงค์
และเป้าหมาย ที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ
เกิดประโยชน์ต่อหน่วยงานและหน่วยงานมากที่สุด แสดงให้เห็นว่าจะมีการทำอะไร
ทำที่ไหน เมื่อใด ให้ใครทำ ทำอย่างไร และให้รายละเอียดอื่นๆ
ที่จำเป็นช่วยให้การปฏิบัติงานลุล่วงไปอย่างมีประสิทธิภาพ
วิโรจน์
สารรัตนะ (2539 : 35-36) ได้ให้ความหมายว่า
การวางแผนเป็นกระบวนการตัดสินใจเพื่อกำหนดวัตถุประสงค์และแนวทางการกระทำไว้ล่วงหน้า
เพื่อให้บุคคลในองค์การปฏิบัติตามให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
อนันต์
เกตุวงศ์ (2541 : 3-4) ได้ให้ความหมายว่า การวางแผนก็คือการตัดสินใจล่วงหน้าในการเลือกทางเลือกเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นวัตถุประสงค์หรือวิธีการกระทำ โดยทั่วไปจะเป็นการตอบคำถามต่อไปนี้ คือ
จะทำอะไร (What)
ทำไมจึงต้องทำ (Why) ใครบ้าง
ที่จะเป็นผู้กระทำ (Who) จะกระทำเมื่อใด (When) จะกระทำกันที่ไหนบ้าง (Where) และจะกระทำกันอย่างไร
(How)
Simmons (อ้างถึงใน ธงชัย สันติวงษ์. 2540 : 138) ได้ให้ความหมายว่า
การวางแผนหมายถึง
(1) ความหมายในแง่ของงานที่ต้องปฏิบัติของผู้บริหารแต่ละคน คือ การกำหนดวัตถุประสงค์ การจูงใจและ สื่อความ การวัดผล และการพัฒนาบุคคล
(2) ความหมายที่มีขอบเขตกว้างกว่าที่คลุมถึงการบริหารทั้งหมด คือ กระบวนการบริหารที่ต่อเนื่อง ครอบคลุมถึงทุกกิจกรรม ของงานและมุ่งสู่อนาคต
(1) ความหมายในแง่ของงานที่ต้องปฏิบัติของผู้บริหารแต่ละคน คือ การกำหนดวัตถุประสงค์ การจูงใจและ สื่อความ การวัดผล และการพัฒนาบุคคล
(2) ความหมายที่มีขอบเขตกว้างกว่าที่คลุมถึงการบริหารทั้งหมด คือ กระบวนการบริหารที่ต่อเนื่อง ครอบคลุมถึงทุกกิจกรรม ของงานและมุ่งสู่อนาคต
Wohlstetter (อ้างถึงใน อนันต์ เกตุวงศ์. 2541 : 2)
ให้คำอธิบายความหมายของการวางแผนไว้แตกต่าง ออกไปจากท่านอื่นๆ โดยให้ความหมายถึงวิธีการที่จำเป็นของการทำให้การตัดสินใจก้าวหน้า
และเป็นสิ่งที่จะต้องมีอยู่ก่อนการกระทำ การวางแผนจะต้องหาคำตอบ 2 ประการนี้ให้ได้
คือ
1)
ความมุ่งหมายขององค์การหรือแผนงานคืออะไร
2)
อะไรคือวิธีการที่ดีที่สุดจะทำให้บรรลุผลสำเร็จของความมุ่งหมายนั้น
ยิ่งกว่านั้นยังเน้นอีกต่อไปว่า การวางแผนเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง
ต้องมีการปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ และสามารถทำนาย การเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้
จากความหมายของการวางแผน
สรุปได้ว่า การวางแผน (Planning)
หมายถึง กระบวนการในการกำหนดทิศทาง เป้าหมาย
วัตถุประสงค์ที่ต้องการให้เกิดขึ้นในอนาคตขององค์การหรือหน่วยงานโดยเลือกวิธีทำงานที่ดีที่สุด
มีประสิทธิภาพมากที่สุด ให้บรรลุผลตามที่ต้องการภายในเวลาที่กำหนด
และการวางแผนนั้นจะพิจารณาในประเด็น ที่สำคัญ 3 ประการ คือ
1)
จุดหมายปลายทาง (คืออะไร)
2) วิธีการดำเนินงาน
(ทำอย่างไร)
3)
ระยะเวลา (เสร็จสิ้นเมื่อไร)
2.
ความสำคัญของการวางแผน
การวางแผนเป็นงานหลักและสำคัญในการบริหารของหน่วยงานในทุกระดับ
เนื่องจากเป็นตัวกำหนดทิศทาง เป้าหมาย วิธีดำเนินการ
ที่จะทำให้หน่วยงานดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการภายในเวลาที่กำหนด
การดำเนินงานจะประสบผลสำเร็จมากหรือน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับการวางแผน
หากวางแผนดีก็เท่ากับดำเนินงานสำเร็จไปแล้วกว่าครึ่ง ดังนั้น
การวางแผนจึงมีความสำคัญต่อการดำเนินงาน ดังนี้
2.1
การวางแผนเป็นหน้าที่อันดับแรกของผู้บริหาร
2.2 การวางแผนเป็นแนวทางปฏิบัติที่สำคัญ ผู้ปฏิบัติตามแผนสามารถศึกษาเรียนรู้วิธีการ
ขั้นตอน และกระบวนการทำงานได้จากแผนก่อนที่จะลงมือปฏิบัติ
2.3
แผนและการวางแผนเป็นตัวกำหนดทิศทางและความรู้สึกในเรื่องของความมุ่งหมายสำหรับองค์การให้ ผู้ปฏิบัติงานทุกคนได้รู้
แผนเป็นกรอบสำหรับการตัดสินใจให้ผู้ปฏิบัติได้ อย่างดี
จึงสามารถป้องกันมิให้มีการตัดสินใจเพื่อแก้ปัญหาแต่ละครั้งไปเท่านั้นด้วย
2.4
แผนและการวางแผนจะช่วยให้ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน มองไปในอนาคต
และเห็นโอกาสที่จะแสวงหาประโยชน์หรือกระทำการต่างๆ ให้สำเร็จตามความมุ่งหมายได้
ทั้งยังมองเห็นปัญหาอุปสรรคและภัยคุกคามต่างๆ เพื่อจะหาทางป้องกัน
ตลอดจนลดภาวะความเสี่ยงต่างๆ ได้ด้วย
2.5
การตัดสินใจที่มีเหตุผลในการวางแผนนั้น จะมีการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ไว้ล่วงหน้า
ซึ่งมีเวลาพอที่จะใช้ทั้งหลักทฤษฎี แนวความคิด และหลักการ
ประกอบกับตัวเลขสถิติและข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาตัดสินใจ
จึงทำให้การตัดสินใจเป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม มีเหตุผลและเป็นประโยชน์ตามต้องการ
2.6
การวางแผนในเรื่องของการเตรียมการไว้ล่วงหน้า
เมื่อมีการกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายตามความต้องการ กิจกรรมต่างๆ
ที่จะต้องกระทำให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และ บังเกิดผลตามเป้าหมายนั้นๆ
จะต้องได้รับการพิจารณา การตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ทั้งวิธีการกระบวนการ
ขั้นตอนของการกระทำ ทรัพยากรที่ต้องใช้ เวลา สถานที่และการควบคุมดูแลการทำงาน
2.7
การวางแผนมีส่วนช่วยให้มนุษย์เปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆได้มาก
2.8
การวางแผนเป็นตัวนำในการพัฒนา
3.
ประโยชน์ของการวางแผน
การวางแผนมีประโยชน์สำคัญหลายประการทั้งต่อผู้บริหาร
ผู้ปฏิบัติ รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
3.1
ป้องกันมิให้เกิดปัญหาและความผิดพลาด
หรือลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในการปฏิบัติงานในอนาคต
3.2
ทำให้หน่วยงานมีกรอบหรือทิศทางในการปฏิบัติงานที่ชัดเจนว่าจะทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร
อย่างไร และใครทำ
ทำให้นักบริหารมีความมั่นใจในการปฏิบัติงานให้บรรลุผลสำเร็จได้ง่าย
3.3
ช่วยให้เกิดการประหยัดทรัพยากรทางการบริหาร เช่น คน เงิน วัสดุอุปกรณ์ เวลา ฯลฯ
3.4 ช่วยให้การปฏิบัติงานรวดเร็ว
มีประสิทธิภาพ เพราะมีแผนเป็นแนวทาง “เปรียบเสมือนเรือที่มีหางเสือ”
3.5
ช่วยให้การปฏิบัติงานเป็นระบบ นักบริหารสามารถควบคุม ติดตามการปฏิบัติงานได้ง่าย
4. ประเภทของแผน
การจำแนกประเภทของแผน
ขึ้นอยู่กับบรรทัดฐานที่นำมาใช้ในการจำแนกและจัดแบ่งประเภท
เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้งานและง่ายต่อการทำความเข้าใจ
การวางแผนอาจจำแนกเป็นประเภทต่างๆ โดยอาศัยหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกันไป
การจำแนกประเภทของแผนที่สำคัญๆ มีดังนี้
4.1
จำแนกตามระดับหน่วยงาน
เป็นแผนซึ่งระบุถึงระดับหน่วยงานที่กำหนดแผนและกำหนดวิธีการในการปฏิบัติตามแผน
แผนประเภทนี้ได้แก่ แผนระดับชาติ แผนระดับกระทรวง แผนระดับกรม แผนระดับจังหวัด
แผนระดับเขตพื้นที่การศึกษา แผนระดับโรงเรียน เป็นต้น
4.2
จำแนกตามวัตถุประสงค์ หรือ เป้าหมาย
เป็นแผนซึ่งจัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายโดยเฉพาะ เช่น
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการศึกษาแห่งชาติ แผนพัฒนาชนบท
แผนพัฒนาแหล่งอุตสาหกรรมภาคตะวันออก เป็นต้น
4.3
จำแนกตามระยะเวลา
แผนประเภทนี้
อาจแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้
4.3.1
แผนระยะสั้น (Short-Range
Plan) คือ แผนที่ใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี
เช่น แผนปฏิบัติการประจำปี (Action Plan or Operation Plan) ในแผนจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการดำเนินการ
สถานที่ งบประมาณ และผู้รับผิดชอบ การวางแผนระยะสั้นอาจทำในรูปของแผนงาน (Program)
หรือ โครงการ (Project) ซึ่งมีกิจกรรมไม่สลับซับซ้อน
4.3.2
แผนระยะปานกลาง (Intermediate-Range
Plan) คือ แผนที่ใช้ระยะเวลาในการดำเนินการตั้งแต่ 3-4 ปี
แต่ไม่เกิน 5 ปี เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10
(พ.ศ.2550-2554) แผนปฏิบัติราชการ 4 ปี เป็นต้น
4.3.3
แผนระยะยาว (Long-Range
Plan) คือ แผนที่ใช้ระยะเวลาในการดำเนินการมากกว่า 5 ปี ขึ้นไป
ในแผนจะกำหนดขอบเขตแนวทางไว้กว้างๆ เช่น แผนการศึกษาแห่งชาติ 15 ปี เป็นต้น
อนึ่ง
อาจไม่มีระยะเวลาที่แน่นอนเป็นมาตรฐานสากลสำหรับกำหนดประเภทของแผนดังกล่าวข้างต้น
แต่ระยะเวลาที่ดีที่ถูกต้องในการจำแนกประเภทของแผนดูเหมือนจะขึ้นอยู่กับ
“หลักความผูกพัน” (Commitment Principle) ซึ่งได้กล่าวโดยสรุปว่า
“ระยะเวลาในการกำหนดแผน การปฏิบัติงาน
ควรให้เหมาะสมและสอดคล้องกับลักษณะของงานที่ต้องกระทำและเป็นระยะ
เวลาขที่เพียงพอกับความผูกพันอันเกี่ยวข้องกับผลของการตัดสินใจในการกระทำตามแผนนั้น”
นอกจากนั้นแผนทั้ง
3 ประเภท จะต้องประสานสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน การกำหนดแผนระยะสั้นหรือระยะปานกลางโดยไม่คำนึงถึงแผนระยะยาว
ย่อมมีผลเสียหายมากกว่าที่จะได้ผลดี หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าแผนระยะสั้น
หรือระยะปานกลาง อาจเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีแผนระยะยาว
และในทำนองเดียวกันแผนระยะยาวอาจไม่ประสบกับผลสำเร็จ หากไม่มีแผนระยะสั้นหรือระยะปานกลางขช่วยสนับสนุน
4.4
จำแนกตามลักษณะการใช้
โดยปกติองค์การหรือหน่วยงานต่างๆ
จะมีแผนที่ใช้อยู่ 2 ประเภท คือ
4.4.1
แผนที่มีวัตถุประสงค์เดียว (Single-Purpose planning) เป็นแผนที่ใช้สำหรับเป็นแนวทางในการปฏิบัติเฉพาะงานหรือเฉพาะความรับผิดชอบหรือเป็นไปตามสภาวการณ์
ครั้นเมื่องานสำเร็จลุล่วงไปแล้วหรือสภาวการณ์เปลี่ยนแปลงไป
แผนนั้นก็จะถูกยกเลิกไม่ใช้อีกต่อไป หรืออาจเรียกว่า “แผนชั่วคราว” เช่น
แผนลดค่าเงินบาท แผนป้องกันน้ำท่วม โครงการแพทย์อาสาสมัครเคลื่อนที่และอื่นๆ เป็นต้น
4.4.2
แผนที่ใช้อย่างต่อเนื่อง (Continuous-Use
Planning) เป็นแผนที่ใช้สำหรับเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องและเป็นประจำด้วยระยะเวลาที่ยาวนาน แม้จะมีผลกระทบต่างๆ
เกิดขึ้นในขณะดำเนินงาน
แผนชนิดนี้จะไม่เปลี่ยนโครงสร้างแต่จะปรับปรุงรายละเอียดให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ หรืออาจเรียกได้ว่า “แผนถาวร” หรือ
“แผนงานหลัก”ได้แก่นโยบายต่างๆ เช่น นโยบายการพัฒนาชนบท นโยบายการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ นโยบายการลดอัตราการเกิด เป็นต้น
4.5
จำแนกตามระดับการบริหารงานหน่วยงาน
แผนประเภทนี้
อาจแบ่งได้เป็น 3 ระดับ ดังนี้
4.5.1
แผนกลยุทธ์ (Strategic
Planning) เป็นแผนที่ถูกจัดทำขึ้นโดยผู้บริหารระดับสูง
เพื่อให้สอดคล้องกับเป็นหมายกลยุทธ์ของหน่วยงานแล้วประสานไปยังผู้บริหารระดับกลาง
และระดับล่าง ทำให้การวางแผนกลยุทธ์มีลักษณะการบริหารแบบลงล่าง (Top-Dow
Planning) ที่ผู้บริหารระดับสูงมีบทบาทสำคัญที่สุด
การวางแผนกลยุทธ์จะกล่าวถึงขอบเขตกว้างๆ ของการจัดกิจกรรมของหน่วยงาน
ซึ่งต้องครอบคลุมทรัพยากรทั้งหมดที่หน่วยงานมีอยู่ตลอดจนการพยากรณ์สภาวะแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก
เป้าหมายของการวางแผนกลยุทธ์ โดยทั่วไปจะมุ่งเน้นให้หน่วยงานเจริญเติบโตและดำรงอยู่ได้ในอนาคต
กับการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินงานของหน่วยงาน
4.5.2
แผนยุทธวิธี (Tactical
Planning) เป็นแผนที่เกิดจากการกระทำร่วมกันระหว่างผู้บริหารระดับสูงกับผู้บริหารระดับกลางเพื่อให้หน่วยงานธุรกิจก้าวไปสู่ผลสำเร็จที่วางไว้
ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายยุทธวิธีและสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ แผนยุทธวิธี
จะมีลักษณะเฉพาะเจาะจงและเป็นกิจกรรมที่ต้องกระทำโดยหน่วยงานย่อยซึ่งอยู่ภายในหน่วยงาน
การวางแผนยุทธวิธีต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตกำหนดของแผนกลยุทธ์
แต่แผนยุทธวิธีจะทำหน้าที่ในการผสมผสานสอดคล้องระหว่างแผน กลยุทธ์ ซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยผู้บริหารระดับสูง
กับแผนปฏิบัติการ
ซึ่งเป็นแผนระดับล่างและมักเป็นแผนระยะสั้นเข้าด้วยกันโดยเน้นให้ครอบคลุมในสิ่งที่มีความสำคัญทั้งหมด
เช่น ค่าใช้จ่าย รายได้ เวลา และเครื่องมือเครื่องใช้
4.5.3
แผนปฏิบัติการ (Operational
Plans) ใช้อธิบายเป้าหมายในการปฏิบัติงานของหน่วยงานในลักษณะที่เป็นหน้าที่เฉพาะของหน่วยงาน
หรือมีลักษณะที่เป็นงานที่ต้องทำเป็นประจำวันต่อวัน
การวางแผนปฏิบัติการเป็นหน้าที่ของผู้บริหารระดับล่างที่จะต้องกระทำตามเป้าหมายปฏิบัติการ
และให้สอดคล้องกับแผนยุทธวิธี และแผนกลยุทธ์
แผนปฏิบัติการจึงมีลักษณะการวางแผนระยะสั้น ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับปัจจัยต่างๆ
ภายในหน่วยงาน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ผู้บริหารสามารถควบคุมได้
4.6
การจำแนกแผนตามหน้าที่ดำเนินงาน
การวางแผนโดยจำแนกตามหน้าที่ดำเนินงาน
สามารถจำแนกแผนออกได้เป็น 5 ชนิด ได้แก่
4.6.1
แผนแม่บท (Master
Plan) เป็นแผนที่เกิดจากการรวมแผนทั้งหมดภายในหน่วยงานเข้าไว้ด้วยกัน
เพื่อให้เห็นถึงโครงสร้างโดยรวมของการปฏิบัติงานภายในหน่วยงาน
และใช้เป็นแม่แบบในการวางแผนระดับรองลงไปของกิจการ
4.6.2
แผนหน้าที่ (Functional
Plan) เป็นแผนที่ถูกวางขึ้นเพื่อเฉพาะเจาะจงใช้กับกลุ่มงาน
แผนปฏิบัติงานจะเป็นแผนย่อยที่อยู่ในแผนใหญ่ที่เรียกว่าแผนแม่บท
แผนปฏิบัติงานจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติทราบว่า หน่วยงานจะต้องทำอะไร ทำอย่างไร
และทำเพื่ออะไร ตลอดจนแสดงเป้าหมายสุดท้ายที่คาดหวัง
เมื่อปฏิบัติตามแผนทุกอย่างหมดแล้ว การจำแนกการวางแผนตามหน้าที่นี้
สามารถจำแนกแผนย่อยออกได้เป็นแผนด้านบุคลากร แผนด้านการผลิต แผนด้านการตลาด
และแผนด้านการเงิน
4.6.3
แผนงานโครงการ (Project)
เป็นแผนที่หน่วยงานทำขึ้นเพื่อตอบสนองนโยบาย
เกี่ยวกับกิจกรรมใหญ่ของหน่วยงานเฉพาะครั้ง (เป็นกิจกรรมที่นานๆ ทำที
มิใช่ทำเป็นประจำสม่ำเสมอ) ซึ่งต้องใช้ปัจจัยเป็นจำนวนมาก จากหน่วยงานต่างๆ หลายๆ
หน่วยงาน การวางแผนงานโครงการจะช่วยให้หน่วยงานย่อยแต่ละหน่วยงานรู้หน้าที่
และความรับผิดชอบของตนมีการประสานสัมพันธ์อันดี
ซึ่งจะทำให้งานบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4.6.4
แผนสรุป (Comprehensive
Plan) เป็นแผนที่จัดทำขึ้นเพื่อสรุปรวมแผนหน้าที่ตลอดจนแผนงานโครงงานที่หน่วยงานกระทำ
โดยอาจจำแนกเป็นหมวดหมู่ หรือจำแนกตามขอบเขตของงานหรือระดับความซับซ้อนในการปฏิบัติ
เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ การวางแผนประเภทนี้
จะเห็นได้ชัดในการวางแผนบริหารประเทศของรัฐบาล ตัวอย่างเช่น แผนสาธารณสุข
แผนการจัดการศึกษา เป็นต้น
4.6.5
แผนกิจกรรม (Activity
Planning) เป็นแผนที่จัดทำขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นตารางเวลาของการปฏิบัติงาน
(Schedule) แผนกิจกรรมจะแสดงให้เห็นว่า
แต่ละหน่วยงานย่อยในหน่วยงานมีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินกิจกรรมอะไร
ในช่วงเวลาใดบ้าง กิจกรรมนั้นจะเริ่มต้นเมื่อไร
และจะต้องดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องกับหน่วยงานใดบ้างหรือไม่
เพื่อให้งานนั้นแล้วเสร็จ บรรลุผลสำเร็จ ตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
4.7
จำแนกตามความถี่ของการนำแผนไปใช้
การจำแนกประเภทของแผนวิธีนี้
จะแบ่งแผนออกได้ เป็น 2 ประเภท ดังนี้
4.7.1
แผนหลัก (Standing
Plan) (หรืออาจเรียกได้ว่าแผนยืนพื้น แผนถาวร หรือแผนประจำ)
เป็นแนวคิด หลักการ หรือแนวทางปฏิบัติในการกระทำกิจกรรมบางอย่างภายในหน่วยงาน
ซึ่งต้องมีการกระทำซ้ำบ่อยๆ แผนหลักหรือแผนประจำนี้
จะถูกนำมาใช้ได้หลายๆครั้งโดยไม่มีการกำหนดอายุ
(ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงสภาวการณ์ทั้งภายในและภายนอกเป็นเกณฑ์)
แผนหลักหรือแผนประจำจึงต้องเป็นเครื่องมือสำหรับผู้บริหารในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาระหว่างฝ่ายต่างๆ
4.7.2
แผนใช้เฉพาะครั้ง (Single-Use
Plan) หมายถึง
แผนที่เตรียมขึ้นอย่างเฉพาะเจาะจงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวแล้วจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นอีก
(one time Goal) เมื่อบรรลุผลตามที่กำหนดแล้วจะเลิกใช้แผนนั้นๆ
แต่ถ้าสถานการณ์เอื้ออำนวยจะนำกลับมาใช้ใหม่อีกก็ได้
จากการจำแนกประเภทของแผน
หากพิจารณาแผนที่หน่วยงานทางการศึกษาในระดับเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนต้องดำเนินการแล้ว
แผนที่มีความสำคัญและจำเป็นต้องดำเนินการไม่ว่าจะคำนึงถึงบริบทของหน่วยงาน
วัตถุประสงค์และเป้าหมาย ระยะเวลา
คือแผนกลยุทธ์ที่ต้องมุ่งพัฒนาหน่วยงานไปสู่อนาคตที่สอดคล้องกับนโยบายหน่วยเหนือและตามความต้องการของหน่วยงาน
รวมถึงบริบทที่เปลี่ยนไปโดยใช้ศักยภาพภายในและสภาพแวดล้อมภายนอก
ช่วยหนุนเสริมผลักดันให้หน่วยงานบรรลุวัตถุประสงค์และภารกิจที่กำหนดไว้
5.
ความเชื่อมโยงของแผนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
โรงเรียน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
การวางแผนพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานใช้แผนปฏิบัติราชการ
4 ปี ซึ่งมีนโยบายและระยะเวลาสอดคล้องกับแผนบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล
แผนปฏิบัติราชการกระทรวงศึกษาธิการ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
และแผนการศึกษาแห่งชาติ
เป็นกรอบทิศทางในการจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปี โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
โรงเรียนใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนของหน่วยงานเช่นเดียวกัน
จากนั้นก็จะก้าวไปสู่กระบวนการบริหาร ในส่วนที่เป็นการบริหารแผนและโครงการ
โดยหน่วยงานที่เป็นผู้รับผิดชอบแผนงานและโครงการที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบนำไปดำเนินการให้บรรลุตามที่ได้กำหนดไว้
หน่วยงานจัดให้มีระบบการติดตาม
รายงานการปฏิบัติงานตามแผนปฏิบัติการและความก้าวหน้าในการปฏิบัติตามแผนพัฒนาในแต่ละรอบปีกับการประเมินผลการดำเนินงานควบคู่กันไป
และรายงานผลการปฏิบัติงานในแต่ละรอบปีเมื่อดำเนินงานไปได้ระยะครึ่งแผนก็จะมีการประเมินผลระยะครึ่งแผนพัฒนาและรายงานการประเมินเมื่อเสร็จสิ้นแผนพัฒนาที่เป็นระบบครบวงจร
ซึ่งแสดงให้เห็นได้ดัง แผนภูมิต่อไปนี้
แผนภูมิ
แสดงความเชื่อมโยงของแผนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
โรงเรียนและ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
6.
ความเชื่อมโยงนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน
การจัดทำแผนกลยุทธ์ของหน่วยงาน
มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษานโยบายและยุทธศาสตร์ หรือจุดเน้นต่างๆจากผู้ที่เกี่ยวข้องหรือหน่วยงานต้นสังกัด
เพื่อเป็นกรอบกำหนดทิศทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
และหากได้มีการศึกษานโยบาย
ที่เกี่ยวข้องในหลายระดับและกว้างขวางจะทำให้เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของนโยบายได้ชัดเจนขึ้น
นโยบายและยุทธศาสตร์ที่ควรศึกษาวิเคราะห์ประกอบการจัดทำแผน เช่น
6.1
ระดับสากล
นโยบายและยุทธศาสตร์ที่ประเทศต่างๆ
รวมถึงประเทศไทยซึ่งเข้าร่วมประชุมและตกลงกำหนดแนวทางการพัฒนาร่วมกัน เช่น
เป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษ
(Millennium
Development Goals - MDGs) คือเป้าหมายแปดประการ
ที่รัฐสมาชิกสหประชาชาติ 189 แห่ง ตกลงยอมรับกันที่จะพยายามบรรลุให้ได้ภายใน พ.ศ.
2558 ดังนี้
1.
การขจัดความยากจนและความหิวโหย
2.
การพัฒนาการศึกษาขั้นประถม
3.
การส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศ
4.
การลดอัตราการตายของเด็ก
5.
การพัฒนาสุขภาพของแม่
6.
การป้องกันโรคเอดส์ มาลาเรีย และโรคติดต่ออื่นๆ
7.
การรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
8.
การส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาในโลก
การศึกษาเพื่อปวงชน
(Education
for All) ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับโลก เรื่องการศึกษาเพื่อปวงชน เมื่อปี พ.ศ. 2533 ที่จอมเทียน จังหวัดชลบุรี
ร่วมกับองค์การยูเนสโก และหน่วยงาน สหประชาชาติอื่นๆ ซึ่งที่ประชุมครั้งนั้นได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาการศึกษาเพื่อปวงชนในปฏิญญาจอมเทียน
ไว้ 6 ประการ คือ
1.
ขยายการดูแลเด็กปฐมวัยและกิจกรรมเพื่อการพัฒนาอื่นๆ
โดยเฉพาะกลุ่มเด็กด้อยโอกาสและ เด็กพิการ
2. ขยายโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ทั่วถึง
ภายในปี พ.ศ. 2543
3. ปรับปรุงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
เพื่อให้ผู้เรียนผ่านมาตรฐานขั้นต่ำที่สูงขึ้น
4.
ลดอัตราการไม่รู้หนังสือของผู้ใหญ่ในปี พ.ศ. 2543
ให้ได้ครึ่งหนึ่งของอัตราในปี พ.ศ. 2533
โดยเน้นการเรียนรู้ของเด็กหญิงและสตรี
5.
ขยายการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานและการฝึกอบรมทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของเยาวชนและผู้ใหญ่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านสุขอนามัย
และการงานอาชีพที่ดีขึ้น
6.
เพิ่มพูนความรู้ทักษะ และค่านิยมที่จำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคล
และครอบครัว ในรูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย
ต่อมาในปี
พ.ศ. 2543 องค์การยูเนสโก ร่วมกับหน่วยงานสหประชาชาติอื่นๆ
ที่ดำเนินการเรื่องการศึกษาเพื่อปวงชน
ได้จัดการประชุมเพื่อประเมินความก้าวหน้าในการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในการประชุมที่จอมเทียน
ที่กรุงดาการประเทศเซเนกัล
ซึ่งผลปรากฏว่าประเทศสมาชิกยังไม่สามารถดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายตามที่ได้กำหนดไว้ในปฏิญญาจอมเทียนได้ดังนั้น
ที่ประชุมจึงได้กำหนดเป้าหมายที่จะบรรลุการศึกษาเพื่อปวงชนภายในปี พ.ศ. 2558
ไว้ในกรอบปฏิญญาดาการ ดังนี้
1.
ขยายและปรับปรุงการศึกษาและการดูแลเด็กเล็กก่อนวัยเรียน
โดยเฉพาะเด็กที่เปราะบางและด้อยโอกาส
2.
จัดให้เด็กทั้งหมด โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง
เด็กที่อยู่ในสภาวะยากลำบากและเด็กที่เป็นกลุ่มน้อยทางเชื้อชาติ
สามารถเข้าถึงและเข้าเรียนในระดับประถมศึกษาภาคบังคับที่มีคุณภาพ ภายในปี ค.ศ.
2015 (พ.ศ. 2558)
3.
จัดการศึกษาที่ตอบสนองความต้องการการเรียนรู้ของเยาวชนและผู้ใหญ่ทั้งหมดผ่านโครงการทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน
4.
พัฒนาอัตราการรู้หนังสือของผู้ใหญ่ให้ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 ภายในปี ค.ศ. 2015
(พ.ศ. 2558) โดยเฉพาะสตรีและการพัฒนาการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานและต่อเนื่องสำหรับผู้ใหญ่ทั้งหมดให้เท่าเทียมกัน
5.
ขจัดความเหลื่อมล้ำทางเพศในการศึกษาระดับประถมและมัธยมภายในปี ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548)
และทำให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศในการศึกษา ภายในปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558)
โดยเน้นการเข้าถึงของเด็กผู้หญิงและทำให้เกิดการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพ
6.
พัฒนาคุณภาพการศึกษาในทุกด้านและรับรองความเป็นเลิศทั้งหมดเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ทางการเรียนรู้ที่ชัดเจนและสามารถวัดได้
โดยเฉพาะในเรื่องการรู้หนังสือ การคำนวณตัวเลขและทักษะที่จำเป็นต่อชีวิต
บทบาทของการศึกษาสู่ประชาคมอาเซียน
ในส่วนของความร่วมมือด้านการศึกษาของประชาคมอาเซียนนั้น
ได้มีการลงนามในปฏิญญาชะอำ-หัวหิน
โดยนายกรัฐมนตรีของไทยและผู้นำของประเทศต่างๆ
ในอาเซียนประกอบด้วยความร่วมมือใน 3 เสาหลัก คือ ประชาคม ด้านการเมืองและความมั่นคง
โดยใช้การศึกษาเป็นตัวนำ ประชาคมด้านเศรษฐกิจ
ทุกประเทศจะต้องพัฒนาความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก
และประชาคมด้านสังคมและวัฒนธรรม ให้ถือว่าความงดงามมาจากความแตกต่างและหลากหลายวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน แต่ในความหลากหลายทางวัฒนธรรมนั้นจะช่วยสร้างความร่วมมือในลักษณะสังคมเอื้ออาทร
โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ ทั้ง 3 เสาหลักส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกัน
เพื่อให้สามารถก้าวไปสู่ความสำเร็จของการเป็นประชาคมอาเซียนได้ภายใน ปี 2558
จากการระดมความคิดในหลากหลายเวทีจากผู้เกี่ยวข้องทั้ง
3 เสาหลัก รวมถึงผู้บริหารการศึกษา ครูผู้สอน นักวิชาการ และผู้เกี่ยวข้อง
พบข้อเสนอแนวทางมากมาย เช่น การให้ความรู้แก่พลเมือง
ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาเพื่อนบ้าน การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน
และจิตสำนึกของพลเมืองอาเซียน ทุกภาคส่วนในสังคมร่วมจัดกิจกรรมด้านการศึกษา สร้างเด็กให้มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานแลสถานประกอบการ
การจัดหลักสูตรการศึกษาอาเซียน ด้วยการส่งเสริมการใช้ภาษาอังกฤษและภาษาเพื่อนบ้าน
เป็นต้น
สำหรับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ต้องเร่งพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยให้รู้จักวัฒนธรรม สังคม ความเป็นอยู่ของเพื่อนอีก 9
ประเทศ ที่จะสามารถก้าวสู่ประชาคมอาเซียนอย่างมั่นใจ
โดยการดำเนินโครงการพัฒนาประชาคมสู่อาเซียน (Spirit of ASEAN) เพื่อรองรับการรวมกลุ่มของประเทศอาเซียน
ในปี 2558 เช่น โรงเรียน Buffer School เป็นโรงเรียนที่อยู่ติดชายแดนกับประเทศไทย
4 ประเทศ ได้แก่ ลาว พม่า กัมพูชา และมาเลเซีย โรงเรียน Sister School เป็นโรงเรียนที่มีความพร้อม มีความเข้มแข็งทั้งในเรื่องของภาษาและ ICT
ที่อยู่ในพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่ติดชายแดน กับประเทศไทย 5 ประเทศ
ได้แก่ เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และบรูไน เป็นต้น
6.2
ระดับประเทศ
ทิศทางการพัฒนาประเทศ กฎหมาย
และนโยบายที่ได้กำหนดไว้ซึ่งเป็นกรอบทิศทางการจัดการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เช่น
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พุทธศักราช 2550
แผนการศึกษาแห่งชาติ
ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2552 – 2559
พระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ
พ.ศ. 2545
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559)
นโยบายรัฐบาล
แผนบริหารราชการแผ่นดิน
นโยบายและยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง
(พ.ศ. 2552- 2561)
พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
พ.ศ.2546
6.3 ระดับกระทรวง
ทิศทางการพัฒนาการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ กฎหมาย และแนวนโยบายที่เกี่ยวข้อง เช่น
แผนปฏิบัติราชการ ระยะ 4 ปี ของ
กระทรวงศึกษาธิการ
แผนปฏิบัติการประจำปี
ของกระทรวงศึกษาธิการ
นโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
6.4
ระดับกรม
ทิศทาง
นโยบายการพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ซึ่งโดยทั่วไปจะมีความสอดคล้องกับกับทิศทาง
นโยบายการพัฒนาการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการและกรอบภารกิจใน ความรับผิดชอบ เช่น
แผนปฏิบัติราชการ ระยะ 4 ปี
ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
แผนปฏิบัติการประจำปี
ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
นโยบาย จุดเน้น
ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
6.5
ระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด
แผนพัฒนาจังหวัด
แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด
การศึกษาจังหวัด
แผนปฏิบัติราชการประจำปี ของจังหวัด
ขอขอบคุณ : https://sites.google.com/site/pmtech32152009/1-sa-ma-rthxth-bay-naew-kh-dke-ywk-bka-rbr-har-khorngkar-khwam-s-akh-y-khwam-pe-nma-khwam-hmay-khwam-taek-t-ang-rahw-a-ngka-rbr-har-khorngkar-k-bkar-br-har-th-w-pi-laea-pra-yo-chn-khxng-kar-br-har-khorngkar-rwm-th-ng-khwam-s-mph-nth-khxng-khorngkar-wngcr-khorngkar-laea-kar-wangphaen-khorngkar
สืบค้นเมื่อวันที่ : 27 ธันวาคม พ.ศ.2560
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น